วันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

บ้านเดี่ยว

ที่มา http://www.baanlaesuan.com


รู้สึก นึก คิด


เมื่อถึงช่วงวัยและวันหนึ่ง เราจะรู้ว่าเราต้องการอะไรและอะไรเป็นส่วนเกินของชีวิต

ผมยืนอยู่ที่ระเบียงชั้นสองของบ้านหลังนี้ เป็นระเบียงที่เชื่อมต่อกับส่วนรับประทานอาหารและครัวของบ้าน เมื่อมองไปรอบตัวก็พบว่าบ้านหลังนี้รายล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่เดิม สายลมพัดมาพอให้หายร้อน แม้แดดจะแรงแต่ผมคิดว่าเป็นการดีและเหมาะสม เหมือนช่วงหนึ่งของวันที่ต้องการแสงแดดอย่างเพียงพอ

บ้านเป็นเหมือนสิ่งที่แสดงตัวตนของผู้อยู่อาศัยและผู้ออกแบบได้ชัดเจนที่สุด เมื่อถึงวันหนึ่งที่ชีวิตต้องมีการขยับขยาย ครอบครัวใหม่ คู่ชีวิต และบ้านสักหลัง คุณกึ๋น – กศินร์ ศรศรี สถาปนิกของ Volume Matrix Co.,Ltd และคุณไมโกะ อิชิโมโต ภรรยาชาวญี่ปุ่นได้ตกลงใจใช้ชีวิตร่วมกันที่เมืองไทย และลงมือออกแบบบ้านของตัวเองด้วยความตั้งใจ การออกแบบบ้านสำหรับสองวัฒนธรรมจึงเกิดขึ้น ดูเหมือนเป็นเรื่องยากที่จะผสมทั้งสองสิ่งนี้ แต่ทุกอย่างนั้นเป็นไปได้หากเราพูดคุยกันถึงความต้องการและความเป็นอยู่ที่ผ่านมาของแต่ละคนด้วยความเข้าใจ

“ถ้าสังเกตเราจะรู้สึกว่าบ้านหลังนี้มีกลิ่นอายของความเป็นญี่ปุ่นผสมอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ชั้นหนึ่งซึ่งเป็นใต้ถุนโล่ง สามารถมานั่งพักผ่อนบนชุดเฟอร์นิเจอร์ไม้สไตล์ญี่ปุ่น ฉากหลังเป็นระแนงไม้ซี่บางประกอบกันเป็นตาราง บวกกับด้านข้างเป็นพื้นที่ลดระดับลงไปและโรยกรวด ส่วนชั้นสองของบ้านมีห้องญี่ปุ่นขนาด 7 เสื่อทาทามิ แต่เราก็คำนึงถึงการใช้งานสะดวกด้วย จึงออกแบบให้พื้นบางส่วนเป็นคอนกรีต เพราะทำความสะอาดง่ายกว่าพื้นเสื่อ นอกจากนี้ผมยังออกแบบห้องเผื่อไว้สำหรับญาติของไมโกะซึ่งมาจากญี่ปุ่นด้วย มาทีหนึ่งก็หลายคน บางห้องจึงเป็นเพียงห้องว่างเปล่า มีห้องน้ำในตัว”

ตัวบ้านตั้งอยู่บนถนนจันทร์ ย่านพระรามที่ 3 เมื่อเข้ามาภายในซอยเล็กๆที่เหมือนแยกออกมาเพื่อความสงบเงียบ ก็จะพบบ้านหลังนี้ ที่ผ่านมาคุณกึ๋นมักออกแบบบ้านตามความต้องการของคนอื่น พอมีโอกาสได้ออกแบบบ้านของตัวเอง ความคิดและความต้องการต่างๆจึงถ่ายทอดมาสู่งานสถาปัตยกรรมอย่างง่ายดายและรวดเร็ว

“ผมเริ่มโดยการใช้ความ ‘รู้สึก’ ก่อนว่าบ้านของเราควรจะเป็นอย่างไร ใช้ประสบการณ์ที่มีจินตนาการถึงบ้านในฝันของเรา เมื่อได้ภาพคร่าวๆในหัวแล้ว ผมก็จะมา ‘นึก’ ถึงความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง ทั้งเรื่องของพื้นที่ งบประมาณ และความต้องการเบื้องต้น สุดท้ายผมก็จะเริ่ม ‘คิด’ ถึงรายละเอียดที่จำเป็นสำหรับบ้านหลังนี้ เป็นรายละเอียดที่ส่งเสริมทั้งในเรื่องของการใช้งานและความสวยงาม”

พื้นที่ก่อสร้างบ้านมีขนาดประมาณ 40 ตารางวา อยู่ในที่ดินเดิมซึ่งมีบ้านของครอบครัวหลังเล็กๆอยู่ 4 หลัง เดิมมีสวนมะม่วงโดยรอบ เมื่อมีการออกแบบบ้านหลังใหม่ คุณกึ๋นก็เลือกที่จะเก็บพื้นที่สวนไว้ให้มากที่สุดและไม่มีการตัดต้นไม้ใหญ่ออกเลย บ้านหลังนี้สร้างชิดกับรั้วบริเวณทางเข้าบ้าน นอกจากจะรบกวนพื้นที่สวนน้อยแล้ว บ้านสูงสามชั้นหลังนี้ยังเป็นเหมือนรั้วสูงที่คอยบังมุมมองจากภายนอกซึ่งล้อมไปด้วยอาคารสูง 3 – 4 ชั้น เพื่อความเป็นส่วนตัวที่มากขึ้นอีกด้วย

ส่วนองค์ประกอบต่างๆของบ้านออกแบบให้มีความนอบน้อมและกลมกลืนไปกับธรรมชาติ เจ้าของบ้านต้องการให้บ้านดูเรียบง่าย ชัดเจน และไม่ซับซ้อน โครงสร้างที่ใช้จึงเป็นระบบเสาคานและพยายามให้ความหนาของคานมีขนาดเท่ากันหมด เพื่อประหยัดค่าไม้แบบที่จะต้องใช้มากขึ้นหากมีขนาดของคานไม่เท่ากัน พื้นใช้คอนกรีตสำเร็จรูปเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นส่วนที่เป็นห้องน้ำ ระเบียง และดาดฟ้าซึ่งจะเป็นพื้นคอนกรีตหล่อในที่ ส่วนผนังเลือกใช้วิธีขัดมัน เพื่อความสะดวกในการทำงาน เหมาะกับสภาพแวดล้อม ไม่ซับซ้อน และเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในประเทศ

“ผมเลือกใช้อิฐมวลเบามาก่อเป็นผนังแทนอิฐมอญทั่วไป เพราะก่อสร้างได้เร็วกว่า น้ำหนักเบากว่า ช่วยลดน้ำหนักของตัวบ้าน แถมยังช่วยกันความร้อนได้ดีกว่าด้วย ส่วนกระจกที่ใช้เป็นกระจกใสธรรมดา ไม่ใช่กระจกตัดแสง เพื่อให้แสงธรรมชาติสามารถส่องเข้ามาได้อย่างทั่วถึง แต่จะมีการออกแบบครีบรอบบานกระจกเป็นกล่อง เพื่อช่วยบังแสงแดดไม่ให้เข้ามามากเกินไป แถมครีบเหล่านี้ยังเป็นเหมือนท่อดูดลมให้เข้ามาภายในบ้านมากขึ้นด้วย บ้านจึงเย็นสบายเพียงแค่เปิดประตูหน้าต่าง ในส่วนที่เป็นผนังคอนกรีตขัดมันจะผสมสีดำเข้าไปเล็กน้อย เพื่อให้สีเทาของคอนกรีตนั้นเข้มขึ้น ดูแตกต่างจากงานคอนกรีตทำผิวขัดมันแบบทั่วไปที่เคยเห็นกัน แถมยังดูกลมกลืนกับสีของลำต้นมะม่วงด้วย”

คุณกึ๋นชี้ให้เห็นถึงรายละเอียดบางอย่างของบ้าน เช่น ผนังคอนกรีตที่ใช้ไม้เทียมซึ่งมีลวดลายไม้อยู่แล้วมาประทับเมื่อตอนที่คอนกรีตกำลังเซ็ตตัว ก็จะได้ลายไม้ตามต้องการ และบางส่วนของผนังภายนอกก็ลดความซ้ำโดยการสลับจากผิวขัดมันมาเป็นการสลัดปูนเพื่อเพิ่มความขรุขระ ทำให้ตัวบ้านดูสมจริงและมีรายละเอียดน่าสนใจมากขึ้น

ความจริงแล้วการอยู่ร่วมกันนั้นไม่ยาก ภาษาและวัฒนธรรมเป็นสิ่งเล็กน้อยหากเทียบกับหลายๆสิ่ง สุดท้ายคนเราก็ต้องกิน นอน ทำงาน และพักผ่อนเหมือนๆกัน ความรักความเข้าใจกันมากกว่าที่เราควรจะออกแบบให้เกิดความลงตัวมากที่สุด

เมื่อถึงช่วงวัยและวันหนึ่ง เราจะรู้ว่าเราต้องการอะไรและอะไรเป็นส่วนเกินของชีวิต… จะเรียกว่าความพอดีของชีวิตก็คงได้
ขอให้คุณผู้อ่านพบชีวิตในช่วงนั้นเร็วๆนะครับ

เรื่อง : “เอกราช ลักษณสัมฤทธิ์”
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตลิสต์ : ภควดี พะหุโล
เจ้าของ : คุณกศินร์ ศรศรี และคุณไมโกะ อิชิโมโต
ออกแบบ : คุณกศินร์ ศรศรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น